สถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่ากุ่ม-ห้วยแร้ง จังหวัดตราด ได้รับอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์พื้นที่จำนวน 703 ไร่ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 กรมชลประทานได้สร้างอ่างเก็บน้ำและขอใช้พื้นที่เพื่อกิจการดังกล่าวจำนวนเนื้อที่ 109 ไร่ และในปี พ.ศ. 2543 ได้ผนวกพื้นที่ของประชาชนที่มอบให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้ประโยชน์ เนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 611 ไร่ 2 งาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน ดังนี้
- ค้นคว้าวิจัยทางด้านวนเกษตร โดยประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ให้บริการทางวิชาการวนเกษตร ป่าไม้ การเกษตร และสิ่งแวดล้อมสู่บุคลากรทุกระดับ
- สาธิต ฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้ด้านวนเกษตรแก่บุคคลทั่วไป
- สถานที่ฝึกงานนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ
สถานีวิจัยฯ ได้พัฒนาเส้นทางเรียนรู้วนเกษตรแบบครบวงจรระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร สำหรับผู้เข้าศึกษาดูงานได้สัมผัสและเรียนรู้ได้จริงจากแปลงสาธิต เทคนิคการทำวนเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ ที่อยู่ตลอด 2 ข้างทาง ได้แก่ การทำน้ำส้มควันไม้ ถ่านอัดก้อน เรือนเพาะชำกล้าไม้ การปลูกพืชเร่วหอมเพื่อนำมาสกัดเป็นเครื่องสำอาง เป็นต้น
ในการเยี่ยมชม ศึกษาดูงานในครั้งนี้มีส่วนช่วยในการเปิดมุมมองให้ผู้ตรวจสอบได้รู้จักหน่วยงานที่สังกัดอยู่ในระดับ คณะ/สถาบัน/สำนัก ที่ทำหน้าที่วิจัยให้บริการทางวิชาการทั้งในระดับหน่วยงานและประชาชนทั่วไป สำหรับงบประมาณที่ใช้จ่ายสถานีวิจัยฯ ได้รับจากงบประมาณเงินรายได้ ซึ่งการเยี่ยมชมในสถานที่จริงจะทำให้ผู้ตรวจสอบได้เข้าใจถึงลักษณะกายภาพที่แท้จริง ตลอดจนได้รับทราบถึงปัญหาอุปสรรคจากผู้ปฏิบัติงาน เพื่อสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการตรวจสอบในอนาคต